การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน อาชีพเสริมสร้างรายได้ดี
การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีทุนทรัพย์เพราะลงทุนครั้งแรกสูง โดยเฉพาะการสร้างโรงเรือนอ่างสำหรับหมักวัสดุเพาะ เครื่องกำเนิดไอน้ำและอุปกรณ์อื่นๆ แต่การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาล จึงเป็นที่นิยมสำหรับเกษตรกรที่เพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพ
ขั้นตอนการเตรียมการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
โรงเรือนและชั้นวาง
- โรงเรือน กว้าง 5.80 เมตร ยาว 6.80 เมตร สูง 2.50 เมตร และสูงจากพื้นถึงยอดบนสุดหลังคา 3.50 เมตร
- ประตู หน้า-หลัง กว้าง 0.75 สูง 1.75 เมตร บนประตูทั้ง 4 บาน ทำหน้าต่างกว้างเท่ากับประตูสูง 30 เชนติเมตร ทั้งประตูและหน้าต่างกรุด้วยผ้าพลาสติก แล้วกรุทับด้วยแฝกด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง
- กรุภายในโรงเรือนรวมทั้งหลังคาด้วยพลาสติกทนร้อนอย่างหนาให้มิดชิด ด้านนอกโรงเรือน กรุด้วยแฝกจนถึงชายคาไม่ให้แสงเข้าได้
- พื้นโรงเรือน อาจเทคอนกรีตหรือหินคลุกอัดให้แน่น ถ้าเป็นพื้นคอนกรีตจะต้องเว้นเป็นช่องใต้ชั้นไว้เพื่อให้โรงเรือนได้รับอุณหภูมิและความชื้นจากดิน
- ชั้นวางวัสดุเพาะกว้าง 80-90 เซนติเมตร ยาว 5 เมตร ชั้นแรกสูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ชั้นต่อ ๆ ไปสูงห่างกันชั้นละ 60 เซนติเมตร ตั้งห่างจากฝาผนังโรงเรือนโดยรอบ 80-90 เซนติเมตร โดยใช้เสาคอนกรีต ไม่ควรใช้ท่อประปาและท่อ PVC ปูพื้นของชั้นด้วยไม้ไผ่ (ไม้รวก) ห่างกันประมาณ 5-10 เซนติเมตร
- ทำความสะอาดโรงเรือนและชั้นวางก่อนเพาะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
การหมักวัสดุเพาะ
ให้นำฟางข้าว 250 กิโลกรัม หมักกับปูนขาว 2 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย 0.5 กิโลกรัม รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยพลาสติก 2 วัน หากใช้วัสดุเพาะอื่น ๆ เช่น กากมันสำปะกลัง กากทะลายปาล์ม เปลือกถั่วเขียว หรือขี้ฝ้าย จะมีวิธีการหมักวัสดุเพาะที่แตกต่างกันไป
วิธีการเพาะ
- วันที่ 1 หมักอาหารเสริมประกอบด้วย กากฝ้าย 250 กิโลกรัม ผสมเปลือกถั่วเหลือง 30-50 กิโลกรัม รดน้ำจนชุ่มให้ทั่ว ตั้งกองเป็นรูปสามเหลี่ยมสูง 70 เซนติเมตร คลุมด้วยพลาสติกเพื่อหมัก 1 คืน
- วันที่ 2 กลับกองอาหารเสริมแล้วผสมรำละเอียด 15 กิโลกรัม ยิปซัม 3 กิโลกรัม ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ปริมาณ 400 กรัม ตั้งกองรูปฝาชี คลุมพลาสติกทิ้งไว้ 1-2 คืน และนำวัสดุเพาะที่หมักไว้ขึ้นชั้นเพาะ
- วันที่ 3 กระจายกองวัสดุอาหารเสริมแบ่งออกเป็น 12 กองเท่า ๆ กัน (เท่ากับจำนวนชั้นเพาะ) แล้วขนไปเกลี่ยบนฟางที่เรียงไว้ในโรงเรือน ชั้นละ 1 กอง กระจายให้ทั่ว แต่ให้ห่างจากขอบฟางด้านละ 1 ฝ่ามือ ใช้มือกดให้แน่นพอประมาณเสร็จแล้วปิดโรงเรือนให้มิดชิด ควบคุมอุณหภูมิให้ได้ประมาณ 40-45 องศาเซลเซียสนาน 24 ชั่วโมง ถ้าอุณหภูมิไม่ถึงให้ใช้ไอน้ำที่ได้จากการต้มน้ำในถังน้ำขนาด 200 ลิตร ต่อท่อเหล็กเข้าไปยังโรงเรือนเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ ทั้งนี้ เพื่อต้องการเพาะเลี้ยงเชื้อราที่เปลี่ยนวัสดุเพาะให้เป็นธาตุอาหารที่เห็ดฟางสามารถนำไปใช้ได้
- วันที่ 4 หลังจากเลี้ยงเชื้อราไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ให้ทำการอบไอน้ำในโรงเรือนเพื่อฆ่าเชื้อ ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 6 ชั่วโมง แล้วพักโรงเรือนไว้ 1 คืน
- วันที่ 5 โรยเชื้อเห็ดฟางให้ทั่วทุกชั้น โดยใช้เชื้อเห็ดฟางชั้นละประมาณ 15-20 ถุง ผสมกับแป้งข้าวเหนียวหรือแป้งสาลี 1 ช้อนแกงต่อเชื้อเห็ดฟาง 1 ถุงปอนด์เมื่อโรยเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว ปิดโรงเรือนให้มิดชิดอย่าให้แสงเข้า ควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนประมาณ 35-36 องศาเซลเซียส ประมาณ 3 วัน เส้นใยเห็ดจะเดินทั่วแปลง
- วันที่ 8 เมื่อเห็นว่าเส้นใยเห็ดเดินทั่วแปลงแล้ว ให้เปิดวัสดุบังแสงออกให้หมดทุกด้าน รักษาอุณหภูมิที่ 35-36 องศาเซลเซียส
- วันที่ 9 เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อไล่แก๊สแอมโมเนียและแก๊สอื่นๆ ที่เป็นอันตรายแก่การเกิดดอกเห็ด และเป็นอันตรายแก่คนออกจากโรงเรือนให้หมด โดยเปิดโรงเรือนไว้ประมาณ 3-5 นาทีต่อครั้ง รักษาอุณหภูมิที่ 35-36 องศาเซลเซียส
- วันที่ 10 หลังจากเปิดแสงไว้ 2-3 วัน นสเปรย์น้ำให้เส้นใยเห็ดยุบตัวลง ช่วยลดอุณหภูมิ และมีการสะสมอาหารที่จะนำไปสร้างเป็นดอกเห็ดช่วงนี้ต้องลดอุณหภูมิให้เหลือประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส เมื่อเห็นว่าเกิดดอกเห็ดเล็กๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควรแล้วจึงปิดแสง หลังจากนี้อีก 2-3 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้
- วันที่ 12-17 เริ่มเก็บดอกเห็ดได้และเก็บได้ประมาณ 5 วันแล้วพักเส้นใย 2-3 วัน เริ่มเก็บรุ่นที่ 2
การปฏิบัติอื่น ๆ
- ถ้าภายในโรงเรือนร้อนจัด ให้เปิดประตูระบายอากาศและความร้อนหรือเปิดเฉพาะหน้าต่าง โดยเปิดเป็นช่วง ๆ วันละ 4-5 ครั้ง ๆ ละประมาณ 3-5 นาทีห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง จะช่วยให้อากาศภายนอกเข้าไปไล่อากาศเสียในโรงเรือนออกมา และยังเป็นการช่วยให้ดอกเห็ดได้รับแสงเป็นบางครั้ง
- ตรวจดูความชื้นภายในโรงเรือน ถ้าหน้ากองเพาะแห้งเกินไป ให้พ่นน้ำเป็นฝอยที่ผิวหน้าให้ฝ้ายชุ่มพอสมควร แต่อย่าให้แฉะ
- เมื่อเห็ดออกดอก ควรเปิดหน้าต่างไว้ตลอด เพื่อไล่อากาศเสีย แต่ต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส
ศัตรูและการป้องกัน กำจัด
- มด และ ปลวก มดจะเข้าทำรังหรือทำลายเชื้อเห็ด ส่วนปลวกจะเข้ากินเส้นใยเห็ดและวัสดุเพาะการป้องกัน กำจัดมด และ ปลวก โดยใช้น้ำท่วมพื้นก่อนที่เพาะเห็ดฟาง 1 สัปดาห์ หว่านเกลือแกงหรือผงซักฟอกเล้กน้อย หรือ ใช้วัสดุรองก้นตะกร้าให้สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร
- ไร โดยทั่วไป ไร จะกัดกินเส้นใยเห็ดทำให้ผลผลิตลดลง เกิดจากการนำวัสดุที่ไม่สะอาดมีไรติดมาด้วย การป้องกันทำได้โดยเลือกวัสดุที่สะอาด ถ้ามีไรระบาดรุนแรงให้หยุดเพาะชั่วคราว ทำความสะอาดภาชนะและพื้นที่ตลอดจนเผาทำลายเศษวัสดุที่เป็นแหล่งอาศัยให้หมด
- วัชเห็ด คือ เห็ดที่ไม่ต้องการในขณะที่เพาะเห็ดฟาง จะพบเมื่อมีอากาศร้อนเกินไป หรือ มาจากวัสดุที่เคยใช้เพาะเห็ดชนิดอื่นมาก่อน ป้องกันได้โดย เลือกวัสดุเพาะที่สะอาด แห้งและใหม่ ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป
- เชื้อรา เชื้อราจะแย่งน้ำและอาหารจากเส้นใยเห็ดฟางและดอกเห็ดฟาง เชื้อราบางชนิดทำให้เกิดโรคและอาการผิดปกติแก่ดอกเห็ดฟาง ทำให้ผลผลิตลดลง การป้องกันเชื้อราทำได้โดย เลือกวัสดุเพาะที่สะอาดใหม่และแห้งสนิท เลือกเชื้อเห็ดฟางที่ไม่มีเชื้อราปน และ ต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดฟางอยู่เสมอ
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , www.sarakaset.com
บทความที่น่าสนใจ