การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก จัดการง่าย โตไว
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก คือ การเลี้ยงปลาดุกในพื้นที่จำกัด สามารถเลี้ยงได้ทุกที่ เพราะใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย ก่อสร้างบ่อเลี้ยงได้ง่ายระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ปลาดุกถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็วอดทนต่อสภาพน้ำได้ดีมีภูมิต้านทานต่อโรคค่อนข้างสูง
ประโยชน์ของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก
- ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย เลี้ยงได้ทุกที่
- เลี้ยงได้จำนวนมาก แม้พื้นที่จะมีน้อย
- ใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้น รุ่นละ 45-60 วัน
- ปลาดุกเป็นปลาที่อดทนตายยาก ทนน้ำเสียได้ดี
- บ่อเลี้ยงใกล้บ้าน ดูแลสะดวกจับบริโภค หรือขายได้ง่าย
การเลือกสถานที่สร้างบ่อ
ควรตั้งอยู่ใกล้บ้าน อยู่ในที่ร่มหรือมีหลังคา มีแหล่งน้ำสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวก ถ้าอยู่ใกล้แหล่งอาหารสด เช่น โครงไก่หรือไส้ไก่บด จะยิ่งดีเพราะสามารถนำมาเป็นอาหารสมทบเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารปลาได้
การสร้างบ่อ มี ๒ แบบ คือ
- บ่อแบบจม
ขุดดินให้ลึกประมาณ 0.25 เมตร โดยยกคันบ่อขึ้นสูงจากพื้นดิน 0.25 เมตร ความลาดชัน 1 : 2 แล้วใช้พลาสติกขนาด 3.5 x 6 เมตร ปูพื้นบ่อต้องระมัดระวังไม่ให้ขาดหรือมีรอยรั่ว หรือยกคันบ่อขึ้นสูงจากพื้นดิน 0.5 เมตร โดยก่อรอบๆ ด้วยกระสอบทรายหลังจากที่ดำเนินการปูพลาสติกขนาดดังกล่าวแล้วจะเหลือพื้นที่ดำเนินการเลี้ยง กว้าง 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 0.5 เมตร ใส่น้ำในบ่อพลาสติกพักไว้ให้มีระดับสูง 10-20 เซนติเมตร ก่อนปล่อยลูกปลา (หากใช้น้ำประปา ควรพักไว้ในบ่อพลาสติก อย่างน้อย 1-2 วัน เพื่อให้ฤทธิ์คลอรีนระเหยให้หมดก่อนจึงค่อยปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง)
- บ่อแบบลอย
ใช้กระสอบปุยบบรจุแกลบเย็บปากถุงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง ๓ ชั้น กว้าง (ภายใน) ๒ เมตร ยาว ๓ เมตร แล้วปูแผ่นพลาสติกทับด้วยกระสอบอีก ๑ ชั้นแล้วทำรั้วกั้นเพื่อป้องกันคันบ่อพังเป็นอันเสร็จสิ้น
การเลี้ยงและอัตราการปล่อย
การปล่อยปลานั้นขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของลูกปลาที่ปล่อย ปลาที่มีความยาวขนาด ๒-๓ เซนติเมตร อัตราปล่อยเลี้ยงบ่อ 100 ตัว/ตารางเมตร ขณะเริ่มปล่อยเลี้ยงน้ำในบ่อควรมีระดับ 20-30 เซนติเมตร ให้เราทำการแช่ถุงปลาไว้ในบ่อเลี้ยง 30 นาที ก่อนปล่อยปลาลงบ่อเพื่อป้องกันปลาช็อคตาย
ภายในบ่อควรมีวัสดุให้ปลาหลบซ่อนเพราะเลี้ยงระยะหนึ่งเพราะปลาตัวไม่เท่ากัน ปลาตัวใหญ่จะรบกวนปลาตัวเล็กและควรแยกปลาตัวใหญ่หรือขนาดใกล้เคียงไว้ในบ่อเดียวกัน ควรมีวัสดุช่วยบังแสงแดด
การเปลี่ยนถ่ายน้ำภายในบ่อ
เริ่มเลี้ยงระดับน้ำลึก 20-30 เซนติเมตร ให้เราเพิ่มระดับน้ำสัปดาห์ละ 5 เซนติเมตร ระดับน้ำสูงสุดไม่เกิน 80 เซนติเมตร ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 4-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำภายในบ่อ ขณะเปลี่ยนถ่ายน้ำ ไม่ควรรบกวนให้ปลาดุกตกใจ เพราะถ้าปลาดุกตกใจ จะงดกินอาหารหลายวัน
อาหารและการให้อาหาร
อาหารปลาดุกนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ด้วยกันนั้นก็คือ อาหารสำเร็จลอยน้ำ หรืออาหารเม็ดสำเร็จรูป ซึ่งปลาขนาด 2-4 เซนติเมตร จะใช้อาหารปลาดุกเล็กพิเศษ และปลาขนาด 5-7 เซนติเมตร นั้นใช้อาหารปลาดุกเล็ก ส่วนปลาขนาดมากกว่า 7 เชนติเมตร อาหารปลาดุกรุ่น อาหารอีกประเภทคือ อาหารสด เช่น เศษปลา ปลวก ฯลฯ
รูปแบบการให้อาหาร
เช้าเย็น ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ น้อยๆ พออิ่มให้อาหารกระจายให้ทั่วบ่อ
อัตราการเติบโตของปลา
ปลาดุกเริ่มเลี้ยงขนาด ๒-๓ เซนติเมตร เลี้ยงระยะเวลา 60 วัน นั้นอัตราการรอดเฉลี่ยอยู่ที่ 80% โดยใช้อาหารเม็ดเลี้ยง 20 กิโลกรัม/บ่อ 1 ตารางเมตร/รุ่น ให้ผลผลิต 15-20 กิโลกรัม/บ่อ 1 ตารางเมตร/รุ่น ขนาดปลา 10-15 ตัวต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
วิธีการป้องกันการเกิดโรค
- ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมก่อนปล่อยลูกปลา
- กรณีซื้อพันธุ์ปลาควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรแข็งแรงและปราศจากโรค และหมั่นตรวจอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ
- เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับกันบ่ออย่างสม่ำเสมอ โดยถ่ายน้ำเก่าออกในปริมาณ 20-30% ของน้ำในบ่อและนำน้ำที่พักไว้เติมลงไปให้ได้ระดับเดิม อย่าให้อาหารจนเหลือ และระวังอย่าให้อาหารตกค้างในบ่อ
การแปรรูป
ปลาดุกนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง ได้แก่ ปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกร้า ฯลฯ
ที่มา | sarakaset.com
บทความที่น่าสนใจ