บทความเกษตร » ปลูกบวบเหลี่ยม ไว้รับประทานง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

ปลูกบวบเหลี่ยม ไว้รับประทานง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

26 กันยายน 2023
372   0

ปลูกบวบเหลี่ยม (Luffa acutangula) ไว้รับประทานง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

ปลูกบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม ถือได้ว่าเป็นผักที่คนไทยนิยมรับประทานกันแทบทุกครัวเรือน และมีการปลูกกันอย่างกว้างขวาง บวบนั้น จัดเป็นผักที่ให้ประโยชน์คุณค่าทางอาหารสูง และสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้ม แกง ผัด หรือจิ้มน้ำพริก มีรสหวาน นอกจากนี้บวบยังเป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษคือ ทนแล้ง ทนฝน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

สำหรับแวดล้อมที่เหมาะสมในการ ปลูกบวบเหลี่ยม นั้นสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตต้องค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย ในดินมีความชื้น สูงพอเหมาะสม่ำเสมอ ควรเป็นพื้นที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ในระหว่างการปลูก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเชียส ที่สำคัญสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล

การต้นกล้าบวบเหลี่ยม

สำหรับการเพาะตย้นกล้านั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยากสามารถเพาะเมล็ดในกระบะเพาะทั้วไป หรือเพาะกล้าในถุงพลาสติกก็ได้ โดยมีส่วนผสมของวัสดุเพาะ คือ ขุยมะ พร้าว ถ่าน แกลบ และปุ๋ยหมัก หรือจะใช้ดินเพาะสำเร็จรูปที่หาซื้อตามร้านทั่วไปก็ได้  จากนั้นทำการดูแลรักษาโดยให้น้ำทุกวัน พอกล้ามีใบจริง 2-3 ใบหรืออายุประมาณ 10-15 วัน จึงทำการย้ายลงปลูกในแปลงหรือในกระถาง

การเตรียมดิน

บวบเหลี่ยม เป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง ควรขุดหรือไถดินลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วคลุกเคล้าลงไปในดินโดยเฉพาะดินทรายและดินเหนียวต้องใส่ให้มาก เพื่อปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้องมีการย่อยดินและพรวนดินให้ละเอียดร่วนโปร่งพร้อมที่จะปลูกได้

การปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 75 เชนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร การปลูกให้หยอดเมล็ดพันธุ์โดยตรงลงในแปลงหลุมละ 4-5 เมล็ด ฝั่งให้ลึกลงไปในดินประมาณ 2-4 เซนติเมตร จากนั้นกลบเมล็ดด้วยดินร่วนหรือปุ๋ยคอกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มอย่าง สม่ำเสมอทุกวัน เมื่อต้นกล้างอก อายุได้ประมาณ 10-15 วัน หรือมีใบจริง 2-4 ใบ ให้ถอนแยกต้นที่อ่อนแอหรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ให้เหลือไว้หลุมละ 2-3 ต้น ก็เพียงพอแล้ว

ปลูกบวบเหลี่ยม

การทำค้าง

ควรทำค้างหรือร้านเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไปก่อนการปลูกหรือเมื่อบวบเหลี่ยมเริ่มเลื้อยหรือเมื่ออายุประมาณ 15-20 วัน การปลูกแบบปล่อยให้ต้นเลื้อยไปตามพื้นดินโดยไม่ทำค้างหรือร้าน จะทำให้ผลบวบมีรูปร่างงอโค้งไม่สวย ไม่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อ ทำเป็นร้านโดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5 – 2เมตร หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว แล้วนำลวดมาผูกบนค้างระยะห่างประมาณ 70 ซม.แล้วนำไม้มาปักที่หลุมให้บวบเกาะไม้ขึ้นไปบนร้านหรือจะประยุกค์ใช้ไม้แบบไหนก็ได้ตามแต่จะสะดวก

การดูแลรักษา 

 การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำในระยะออกดอกและติดผล เพราะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล

การใส่ปุ๋ย

         ใส่ปุ๋ยคอกในตอนปลูกโดยใช้รองก้นหลุมเมื่อบวบอายุประมาณ 20 – 30 วัน โดยใส่แบบโรยข้างแล้วพรวนดินกลบ

การเก็บเกี่ยวบวบเหลี่ยม

อายุของการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 40-60 วัน หลังจากที่ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ นิยมเก็บผลที่อ่อน เนื้อของผลอ่อนนุ่ม ในระยะนี้บวบเหลี่ยมจะมีขนาดยาวประมาณ 22-33 เซนติเมตร ต้องเก็บก่อนผลเริ่มแข็ง อย่าให้มีบวบแก่ติดกับต้นมากนัก เพราะจะทำให้บวบชุดหนังมีขนาดเล็ก ส่วนการเก็บเมล็ดพันธุ์นั้น ในเมืองไทยมักเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยการเอาเมล็ดพันธุ์นั้นสามารถทำได้โดยการปล่อยให้บวบแก่กับต้น เมื่อแก่เมล็ดพันธุ์จะมีดำ มีเปลือกเมล็ดหนา และเมล็ดพันธุ์จะมีลักษณะดของผิวเป็นคลื่นคล้ายกับร่างแห ขอบเมล็ดจะไม่คม

โรคและแมลง

  • โรคราน้ำค้าง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis อาการเริ่มแรกจะพบเป็นจุดสีเหลืองซีดขนาดเล็กทางด้านหน้าใบ จุดดังกล่าวจะขยายออกเป็นรูปเหลี่ยมตามลักษณะของเส้นใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบในเวลาเช้าจะพบเขม่าสีเทาดำตรงบริเวณแผลนั้น ซึ่งเป็นส่วนของเชื้อและเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลมีลักษณะแห้งยุบตัวลง เมื่อแผลรวมกันมากๆ จะทำให้เกิดอาการใบไหม้
    การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดด้วยเมทาแลคซิลอัตรา 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เก็บใบแก่ๆ ที่แสดงอาการของโรคใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปเผาทำลาย นอกจากนี้ฉีดพ่นด้วย คลอโรทาโรนิลหรือแมลโคเชปในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  • เต่าแตง เต่าแตงมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดสีดำ และชนิดสีแดงแต่ส่วนใหญ่จะพบสีแดง เต่าแตงเป็นแมลงปีกแข็ง
    ลักษณะการทำลาย โดยตัวแก่จะกัดกินใบ หากเกิดการระบาดรุนแรงทำให้ชะงักการทอดยอดได้ ส่วนตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินโดยกัดกินราก บวบที่ถูกเต่าแตงเข้าทำลายจะทำให้ผลผลิตลดลงและผลมีขนาดเล็กลง
    การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูบวบในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด การจับทำลายด้วยมือจะช่วยได้มาก ภายหลังเก็บเกี่ยวผลหมดแล้วไม่ควรปล่อยต้นบวบทิ้งไว้บนแปลง ควรถอนทำลาย มิฉะนั้นอาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเต่าแตงต่อไปได้ หากการระบาดรุนแรงควรเลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริลหรือเซฟวิน 85 ในอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเป็นครั้งคราว สำหรับเซฟวิน 85 ไม่ควรใช้เกินอัตราที่แนะนำ เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้

ที่มารูปภาพ : facebook ฟาร์มสุข-ข้างบ้าน


บทความที่น่าสนใจ